ทุกสิ่งอยู่ที่ใจ

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

มิตร

     ในทางพุทธศาสนาจำแนกแยกแยะมิตรออกเป็น มิตรแท้กับมิตรเทียม โดยมีรายละเอียดของมิตรแท้มิตรเทียมไว้อย่างน่าสนใจ
ศาสนาพุทธแบ่ง มิตรแท้ ออกเป็น 4 คุณลักษณะ คือ
1. มิตรมีอุปการะ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นมิตรกัน ต้องรู้จักแบ่งปันให้กันและกันบ้าง การแบ่งปันให้กันนี้ไม่ใช่แค่ให้สิ่งของสนองน้ำใจกันเล็ก ๆ น้อย ๆ คนที่กล้าพูดได้ว่าเป็นมิตรกันต้องพร้อมจะอุปการะมิตรเมื่อความจำเป็นในชีวิตเกิดขึ้น 
2. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข เมื่อเป็นมิตรแท้กัน ต้องพร้อมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลเห็นใจกันในยามทุกข์ ไม่ใช่พอมีทุกข์ก็ทิ้ง พอมีสุขก็วิ่งเข้าหา แบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นมิตรแท้ต่อกัน
 3. มิตรแนะนำประโยชน์ 
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของคนเรามีอยู่มากมายในหลายรูปแบบ ประโยชน์หลายอย่างก็แอบซ่อนอยู่โดยที่เราอาจไม่รู้ แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรแท้ต่อกันควรช่วยแนะนำสิ่งดี ๆ มีประโยชน์ให้กันและกัน เพื่อรังสรรค์สิ่งดี ๆ ให้มีขึ้นกับคนที่เรารักในฐานะมิตรแท้ ย่อมเพิ่มพูนความเป็นมิตรแท้ให้แน่นอนยิ่งขึ้น
 4. มิตรอนุเคราะห์ 
เป็นมิตรแท้ต่อกันถ้าไม่อนุเคราะห์เกื้อกูลกันบ้าง คงจะอ้างว่าเป็นมิตรแท้ของกันและกันไม่ได้ การอนุเคราะห์ไม่จำเป็นต้องรอให้มิตรเกิดเคราะห์แล้วจึงอนุเคราะห์ เราควรจะอนุเคราะห์เมื่อเราอยู่ในสถานะที่จะอนุเคราะห์ได้ ในสิ่งที่มิตรยังขาดหรืออาจไม่ต้องรอให้มิตรร้องขอ เพราะการอนุเคราะห์ สิ่งที่ขาดโดยไม่ได้ขอจะก่อเกิดความรักความผูกพันกันเพิ่มหลายเท่าพันทวี

  
          คุณลักษณะของมิตรเทียม (ศัตรูในร่างของมิตร)ดูบ้าง พุทธศาสนาวางไว้ 4 คุณลักษณะเช่นกัน คือ 
1. มิตรปอกลอก
คนประเภทนี้มักมีวิธีพูดจาหว่านล้อมให้เราหลงเชื่อว่า จะได้ประโยชน์แบบนี้แบบนั้น ที่แท้มีวาระซ่อนเร้นอยู่ในใจหวังได้ประโยชน์จากเรามากกว่า กว่าจะรู้ความจริงเราอาจหมดเนื้อหมดตัวไปแล้วก็ได้
 2. มิตรดีแต่พูด
ถ้าสังเกตดูให้ดีจะมีเพื่อนมิตรอยู่ประเภทหนึ่งที่ดีแต่พูด มีทั้งพูดสรรเสริญเยินยอเราเกินจริง พอ ๆ กับพูดติฉินนินทาเราลับหลังจนคนฟังเข้าใจผิดคิดว่าเราเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
มิตรประเภทนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะมักจะอยู่ข้างกาย เขาจะไม่พูดถึงขั้นทำลาย แต่ก็นับเป็นตัวอันตรายที่ควรห่างไกลไว้หน่อยก็ดี
 3. มิตรหัวประจบ
มิตรประเภทนี้จะทำดีกับเราทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เป็นการทำดีที่เรียกว่า “เว่อร์” ถ้าเราเซ่อซ่าบ้าจี้เห็นดีเห็นงามไปกับความกล้าประจบประแจงแสร้งทำของคนประเภทนี้ ก็อาจจะถูกชี้นำให้เราถลำทำอะไรไปผิด ๆ โดยคิดว่าทำถูกเพราะมีลูกยุจากคนที่เป็นมิตรเทียม ควรเตรียมตัว เตรียมใจอยู่ห่างไว้หน่อยก็ดี
 4. มิตรชวนไปในทางเสียหาย
ความหมายของมิตรที่มีคุณลักษณะแบบนี้ แทบไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรมาก ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณไม่รู้ว่าทางเสียหายคืออะไร ก็อาจจะหลงเดินตามไป แต่ถ้ารู้แล้วยังเดินตาม ก็เตรียมรับกรรมกันไปก็แล้วกัน

          เรื่องของ มิตรแท้มิตรเทียม นี้เป็นสิ่งที่เจอะเจออยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ไม่ทันคิดให้ละเอียดกันเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น